รมช.คมนาคม นำคณะเดินทางตรวจความพร้อมการพัฒนาอุตสาหกรรมพาณิชยนาวีของไทย โดยใช้เส้นทางท่าเรือคลองเตย-ท่าเรือแหลมฉบัง จ.ชลบุรี ชี้หากไทยไม่เร่งพัฒนาอุตสาหกรรมพาณิชยนาวีให้เกิดขึ้น อนาคตอาจประสบปัญหาความยากลำบากในการขนส่งสินค้าทางน้ำทั้งขาเข้าและออก ส่วนความคืบหน้าโครงการ SRTO แหลมฉบัง – ICD ลาดกระบัง ณ ท่าเรือแหลมฉบัง จังหวัดชลบุรี ใกล้แล้วเสร็จตามกำหนด โดย ผอ.ทลฉ.ชี้หากโครงการดังกล่าวแล้วเสร็จ จะเพิ่มขีดความสามารถในการขนส่งสินค้าทางรางจากเคยได้ 4.7 แสนทีอียูต่อปีเป็น 7 แสนทีอียูต่อปี ในห้วงปีแรก และภายในระยะเวลา 4 ปี จะมีตู้สินค้าขนส่งทางรางมากถึง 1 ล้านทีอียู
วันนี้ (20 มีนาคม 60) นายพิชิต อัคราทิตย์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม พร้อมคณะ ได้เดินทางลงพื้นที่ท่าเรือแหลมฉบัง จังหวัดชลบุรี ตามโครงการดูงานการเดินเรือพาณิชย์ของไทย เส้นทางท่าเรือคลองเตย-ท่าเรือแหลมฉบัง บนเรือ GANTA BHUM V315S/316 และตรวจราชการโครงการ SRTO แหลมฉบัง – ICD ลาดกระบัง โดยมี ร.ต.ต.มนตรี ฤกษ์จำเนียร ผู้อำนวยการ ท่าเรือแหลมฉบังพร้อมคณะผู้บริหาร ให้การต้อนรับพร้อมนำรับฟังบรรยายสรุปภาพรวมกิจการพาณิชยนาวีของไทย โดยสมาคมเจ้าของเรือไทย และเข้าเยี่ยมชมระบบการจราจรทางน้ำ และรับฟังบรรยายสรุปกิจการของบริษัท ทีไอพีเอส จำกัด ณ ท่าเทียบเรือ B ก่อนลงพื้นที่ตรวจโครงการ SRTO และการใช้พื้นที่บริเวณท่าเรือแหลมฉบังโดยรถไฟ เพื่อตรวจสภาพรถไฟรางคู่ตลอดเส้นทางจนถึง ICDลาดกระบัง ในการติดตามการแก้ไขปัญหาการจราจรภายใน ICD
นายพิชิต อัคราทิตย์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม เผยว่าการเดินทางลงพื้นที่ท่าเรือแหลมฉบัง ทางเรือ เพื่อต้องการรับฟังปัญหาของภาคเอกชนในส่วนที่เกี่ยวกับการพัฒนาอุตสาหกรรมพาณิชยนาวี ซึ่งในช่วงเช้า ได้ออกเดินทางโดยเรือบรรทุกตู้คอนเทนเนอร์ จากท่าเรือคลองเตย ล่องตามแม่น้ำเจ้าพระยา มายังท่าเรือแหลมฉบัง เพื่อดูความยากลำบากของการขนส่งสินค้าทั้งขาเข้าและออกจากท่าเรือครองเตย สู่ทะเลเปิด ก่อนรับฟังปัญหาด้านการขนส่งสินค้าทางรางจากท่าเรือแหลมฉบัง หลังพบว่ามีความล่าช้าในการดำเนินการโครงการ SRTO เพื่อหาแนวทางในการเร่งรัดโครงการว่าจะแล้วเสร็จได้รวดเร็วเพียงใด เพื่อให้การขนส่งสินค้าดำเนินการได้รวดเร็วยิ่งขึ้น ป้องกันปัญหาสินค้าตกค้างอยู่ที่ ICDลาดกระบัง และท่าเรือแหลมฉบัง เพื่อนำปัญหากลับไปแก้ไข
โดยปัญหาหลักที่เกี่ยวกับการพัฒนาอุตสาหกรรมพาณิชยนาวีของไทย คือการได้รับสนับสนุนจากรัฐบาลค่อนข้างน้อย ทั้งที่การขนส่งสินค้าทางน้ำถือว่ามีต้นทุนถูกที่สุดเฉลี่ยที่ 65 สตางค์ต่อตันต่อกิโลเมตร และเมื่อเทียบกับการขนส่งทางถนนที่มีต้นทุนเฉลี่ยอยู่ประมาณ 2.62 สตางค์ต่อตันต่อกิโลเมตรถือว่าต่างกันมาก และหากประเทศไทยสามารถพัฒนาการขนส่งสินค้าทางน้ำได้สำเร็จ ก็จะช่วยประหยัดค่าขนส่งและเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันกับต่างประเทศได้มาก
“การพัฒนาอุตสาหกรรมพาณิชยนาวีในประเทศไทย มีความจำเป็นที่ต้องได้รับการสนับสนุนทั้งในแง่ของการพัฒนาท่าเรือ วิธีการเดินเรือ อู่ซ่อมเรือ และบุคลากรด้านพาณิชยนาวี ซึ่งหากเราสามารถพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและบุคลากรได้อย่างต่อเนื่องก็จะสามารถสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับประเทศได้ เนื่องจากอุตสาหกรรมพาณิชยนาวี มีความหมายถึงความมั่นคงทางเศรษฐกิจ เพราะหากไทย ไม่มีกองเรือของตัวเอง เมื่อเกิดปัญหาด้านการส่งออกและนำเข้า ก็จะต้องพึ่งพิงต่างชาติอยู่ตลอดเวลา” รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม กล่าว
ขณะที่ ร.ต.ต.มนตรี ฤกษ์จำเนียร ผู้อำนวยการ ท่าเรือแหลมฉบัง เผยว่าท่าเรือแหลมฉบัง มีความพร้อมในการพัฒนาอุตสาหกรรมพาณิชยนาวี เนื่องจากมีความพร้อมทั้งในด้านโครงสร้างพื้นฐาน อาทิ ระบบรถไฟ, การขนส่งทางถนน และทางน้ำที่สามารถเชื่อมโยงเป็นเครือข่าย ที่จะสามารถรองรับสินค้าที่ขนส่งมาจากแม่น้ำสายต่างๆ ในประเทศ ไม่ว่าจะเป็นแม่น้ำเจ้าพระยา ,ป่าสัก ,แม่น้ำแม่กลอง หรือแม่น้ำบางปะกง เข้าเทียบท่ายังท่าเรือแหลมฉบัง และในทางเดียวกันท่าเรือแหลมฉบัง ก็มีสินค้าที่วิ่งขนส่งมาจากท่าเทียบเรือทางภาคใต้เข้ามาขนถ่ายยังท่าฯ ซึ่งถือว่ามีเครือข่ายที่สมบูรณ์ โดยท่าเรือแหลมฉบัง ยังมีแผนที่จะให้ความร่วมมือกับหน่วยงานราชการที่เปิด ICD ในพื้นที่ต่างๆ เพื่อดึงสินค้าในทุก ให้เข้ามาใช้ระบบการขนส่งสินค้าทางราง เพื่อลดปัญหาความแออัดบนท้องถนนอีกด้วย
“เรามีความพร้อมในการสนับสนุนทั้งระบบโครงสร้างพื้นฐาน และการพัฒนาอุตสาหกรรมพาณิชยนาวีของประเทศ ทั้งในส่วนโครงการของรัฐบาล อาทิ โครงการรถไฟความเร็วสูง หรือโครงการ EEC ซึ่งเรามีเครือข่ายการขนส่งไม่ว่าจะเป็นสายการเดินเรือต่ รวมทั้งบุคลากรผู้เชี่ยวชาญที่มีประสบการณ์กว่า 30 ปี จึงทำให้สายการเดินเรือมั่นใจและเชื่อมั่นในการดำเนินการของท่าเรือแหลมฉบัง จึงทำให้ในปัจจุบันท่าเรือแหลมฉบัง มีตู้สินค้าขนถ่ายผ่านท่าสูงถึง 7.2 ล้านทีอียูต่อปี และหากโครงการ SRTO แล้วเสร็จ จะเพิ่มขีดความสามารถในการขนส่งตู้สินค้าทางรางที่เคยได้ 4.7 แสนทีอียูต่อปีเป็นเกือบ 7 แสนทีอียูต่อปี ในห้วงปีแรกของการเปิดดำเนินการ และภายในระยะเวลา 4 ปี จะมีตู้สินค้าขนถ่ายโดยระบบรางสูงถึง 1 ล้านทีอียู โดยเชื่อว่าโครงการ SRTO จะแล้วเสร็จในเดือนพฤศจิกายนนี้อย่างแน่นอน”ร.ต.ต.มนตรี กล่าว
ความคิดเห็น
/