saostar

Banner โฆษณา

ผลประกอบการ ท่าเรือแหลมฉบัง ปี60 โต ท่าเรือเฟส 3 คืบตามนโยบาย


ผลประกอบการ ทลฉ.ปี 60 เติบโตตามเป้าที่ 4% โดยมียอดการขนถ่ายตู้สินค้าผ่าท่ารวม 7.67 ล้านทีอียู  สูงกว่าปีที่ผ่านมา  6 แสนทีอียู  พร้อมเดินหน้าเพิ่มยอดตู้สินค้าถ่ายลำและตู้สินค้าผ่านแดน  ภายใต้จุดแข็งการเป็นท่าเรือต้นทางและท่าเรือปลายทาง ที่มีข้อได้เปรียบด้านยุทธศาสตร์ที่ตั้ง  ส่วนความคืบหน้าการผลักดันโครงการก่อสร้างท่าเรือฯ เฟส 3 เป็นไปตามนโยบายนายกรัฐมนตรี

วันนี้ ( 8 พ.ย.) นายชุนณ์ลพัทธ์ ศรีภาเพลิน ผู้ช่วยผู้อานวยการ กองบริหารงานทั่วไป ท่าเรือแหลมฉบัง เผยถึงผลการดำเนินงานของท่าเรือแหลมฉบัง จ.ชลบุรี ในปีงบประมาณ 2560 ( ต.ค.2559ก.ย.2560) ว่าเป็นไปตามเป้าหมายที่วางไว้ คือมีอัตราการเติบโตโดยรวมอยู่ที่ 4% และมีปริมาณตู้สินค้าขนถ่ายผ่านท่าที่  7.67 ล้านทีอียู  เติบโตจากปีก่อนที่มีจำนวนตู้สินค้า 7.06 ล้านทีอียู  อยู่ที่กว่า 6 แสนทีอียู เช่นเดียวกับจำนวนเรือเทียบท่า ทั้งเรือตู้สินค้า,เรือสินค้าทั่วไป ,เรือ RO-RO, เรือสินค้าเทกอง,เรือโดยสาร ,เรือลำเลียง และเรืออื่นๆ ที่มีจำนวน 13,461 เที่ยว เพิ่มขึ้นจากปีก่อนที่มีจำนวน 12,607 เที่ยว

โดยมีปัจจัยเสริมจากความเชื่อมั่นในการบริหารงานและการให้บริการของท่าเรือแหลมฉบัง รวมทั้งการใช้เครื่องมือขนถ่ายสินค้าที่ทันสมัยของผู้บริหารท่าเทียบเรือต่างๆ 

เช่นเดียวกับโครงสร้างพื้นฐานของท่าเรือแหลมฉบัง ที่มีศักยภาพไม่ว่าจะเป็นโครงการพัฒนาท่าเรือแหลมฉบัง เฟสแรก ที่สามารถรองรับเรือสินค้าขนาด 50,000 เดทเวทตัน ในระดับน้ำลึก14 เมตร จากระดับน้ำทะเลปานกลาง ส่วนโครงการพัฒนาท่าเรือแหลมฉบัง ระยะที่ 2 ที่สามารถรองรับเรือสินค้าขนาด 80,000 เดทเวทตันในระดับน้ำลึก 16 เมตรจากระดับน้ำทะเลปานกลาง ที่ขณะนี้ขีดความสามารถในการรองรับตู้สินค้าใกล้เต็มประสิทธิภาพ  ถือว่ามาจากการยอมรับจากสายการเดินเรือและผู้ประกอบการขนส่งสินค้าทั่วโลก

ขณะที่การพัฒนาท่าเรือแหลมฉบัง ระยะที่ 3 ได้ผ่านกระบวนการรับฟังความคิดเห็นของผู้มีส่วนได้เสียรอบท่าเรือแหลมฉบัง ทั้ง   3 ครั้งเป็นที่เรียบร้อยแล้ว ภายใต้การดำเนินงานตามนโยบายของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ที่เน้นย้ำเรื่องการดูแลและเยียวยาให้ชุมชนต่างๆ ที่อยู่โดยรอบสามารถอยู่ร่วมกันได้อย่างมีความสุข

ท่าเรือแหลมฉบัง  มีความพร้อมในการเป็นประตูขนถ่ายสินค้าระดับภูมิภาคอาเซียน แต่การพัฒนาท่าเรือฯ จะประสบความสำเร็จได้ ต้องมีองค์ประกอบหลายด้าน ทั้งการสนับสนุนจากรัฐบาล  ชุมชนและผู้ประกอบการ  และแม้ในปีนี้การขนถ่ายรถยนต์ผ่านท่าฯ จะมีตัวเลขลดลงจากเดิมในปี 2559 ที่จำนวน 1.26 ล้านคัน เหลือ 1.21 ล้านคันในปี 2560 ก็อาจมาจากการลดกำลังผลิตหรือตัวเลขส่งออกของผู้ประกอบการ แต่สิ่งที่น่าสนใจคือ การเติบโตของจำนวนนักท่องเที่ยวที่เดินทางมากับเรือโดยสาร ที่ในปีนี้มีผู้โดยสารถึง  2.43  แสนคน จากที่ปีก่อนมีประมาณ  2.28   แสนคน

นายชุนณ์ลพัทธ์ ยังเผยว่าอีกหนึ่งเป้าหมายสำคัญในการดำเนินงาน ปี 2561 ก็คือการเพิ่มจำนวนตู้สินค้าถ่ายลำ และสินค้าผ่านแดน ให้มากขึ้น  ภายใต้จุดแข็งการเป็นท่าเรือต้นทาง และท่าเรือปลายทาง หรือ  Origin Destination   ที่ ณ วันนี้ท่าเรือแหลมฉบังมีลูกค้าอยู่หลายราย เพียงแต่ต้องแก้ปัญหาเรื่องข้อมูลที่ต้องประสานงานกันระหว่างหลายหน่วยงานต่างๆ อาทิ ศุลกากรท่าเรือแหลมฉบัง,ผู้บริหารท่า,ท่าเรือแหลมฉบัง ฯลฯ  เพื่อสร้างระบบการรวบรวมข้อมูลทุกด้านให้มาอยู่ ณ จุดเดียวกันอย่างมีประสิทธิภาพ  

และเชื่อว่าในปี 2561 ท่าเรือแหลมฉบัง จะมีรายได้จากการให้บริการตู้สินค้าถ่ายลำเพิ่มขึ้นจากปีงบประมาณ 2560   ที่มีจำนวนตู้สินค้าถ่ายลำ ขาเข้า ประมาณ 4.29 หมื่นทีอียู และ ขาออกที่   4.2 หมื่นทีอียู เช่นเดียวกับสัดส่วนตู้สินค้าผ่านแดน ที่ลูกค้าเริ่มหันมาใช้บริการมากขึ้น จากปัจจัยบวกเรื่องอัตราค่าบริการที่ต่ำมากเมื่อเทียบกับท่าเรืออื่นๆ ทั่วโลก



ข่าวอื่นๆ ที่น่าสนใจ