saostar

Banner โฆษณา

ไทยจับมือจีนเปิดหลักสูตร ป.โท ด้านเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศระดับอาเซียน


            ไทยจับมือจีนเปิดหลักสูตร ปริญญาโท เพื่อเร่งผลิตคนด้านเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศระดับอาเซียน   รุ่นแรกรับจำนวน 20 คน เรียนทฤษฎีในประเทศไทย 1 ปี และวิทยานิพนธ์ประเทศจีน 1 ปี มั่นใจจะเป็นหลักสูตรที่สามารถสร้างและผลิตบุคลากรที่มีประสิทธิภาพสู่ตลาดทั้งในและต่างประเทศได้แน่นอน

วันนี้( 29 พ.ย.)ดร.อานนท์ สนิทวงศ์ ณ อยุธยา ผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (องค์การมหาชน) หรือจิสด้า พร้อมด้วย ผศ.นพ.ไชยวิทย์  ธนไพศาล  รองอธิการบดี ฝ่ายวิชาการ มหาวิทยาลัยบูรพา และ Mr.Prof  Hongbing  SHU  รองอธิการบดีมหาวิทยาลัยอู่ฮั่น  สาธารณรัฐประชาชนจีน ร่วมแถลงข่าว เปิดตัวหลักสูตรการศึกษาระดับปริญญาโท ในชื่อ “SCGI Master’s Program in Geo-Informatics and Space Technology (under the Supervision of the Sirindhorn Center for Geo-informatics (SCGI))” ณ อาคารศูนย์ภูมิสารสนเทศสิรินธร อุทยานรังสรรค์นวัตกรรมอวกาศ อำเภอศรีราชา จังหวัดชลบุรี  โดยมีผู้ที่สนใจเข้ารับฟังครั้งนี้จำนวนมาก

 ดร.อานนท์ สนิทวงศ์ ณ อยุธยา ผู้อำนวยการจิสด้า กล่าวว่า ตามแนวพระราชดำริของสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ที่ทรงอยากเห็นการพัฒนาและส่งเสริม สนับสนุน เทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศของประเทศไทย และสำนักงานคณะกรรมการอุดมศึกษา ได้มีการกำหนดเครือข่ายเชิงกลยุทธ์ในการผลิตและพัฒนาอาจารย์ในสถาบันอุดมศึกษา โดยมีเทคโนโลยีภูมิสารสนเทศบรรจุอยู่ในเครือข่ายดังกล่าว เนื่องจากที่ผ่านมาสาขาภูมิสารสนเทศเป็นสาขาที่ขาดแคลน และยังมีไม่เพียงพอต่อการผลิตบุคลากรพร้อมใช้เพื่อป้อนเข้าสู่ตลาดได้อย่างเป็นรูปธรรม

ดังนั้นจึงทำให้เกิดความร่วมมืออย่างจริงจังจาก 3 หน่วยงานหลัก คือมหาวิทยาลัยอู่ฮั่น มหาวิทยาลัยบูรพา และจิสด้า ในการขับเคลื่อนและผลักดันให้มีหลักสูตร SCGI Master Program ขึ้นมา เพื่อตอบสนองความต้องการของประเทศ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการพัฒนาด้านกำลังคนทางเทคโนโลยีภูมิสารสนเทศ  โดยมีจิสด้าเป็นหน่วยขับเคลื่อนโดยตรง เพราะเป็นหน่วยงานหลักทางเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศของประเทศแบบครบวงจร และที่ผ่านมาก็มีการใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีดังกล่าวในการขับเคลื่อนนโยบายสำคัญ ๆ ระดับประเทศ ซึ่งแน่นอนว่าจะสามารถเอื้อต่อการเรียนรู้ภาคการศึกษาหลักสูตรได้ 

การเปิดตัวหลักสูตรฯ ดังกล่าวถือเป็นทางเลือกที่สำคัญในการสร้างบุคลากรพร้อมใช้และผลิตบุคลากรให้มีความเชี่ยวชาญ รวมทั้งเป็นการเพิ่มขีดความสามารถ  ในการเป็นผู้นำทางวิชาการด้านเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศให้สอดคล้องบริบทประชาคมโลกซึ่งจะเป็นกำลังสำคัญในการพัฒนาและการแข่งขันของประเทศและของโลกในอนาคตได้





ข่าวอื่นๆ ที่น่าสนใจ