saostar

Banner โฆษณา

ชาวบ้านยังค้าน ผลกระทบมอเตอร์เวย์ท่าเรือแหลมฉบัง ปราจีนบุรี


ชาวบ้านยังค้าน มอเตอร์เวย์ ช่วงท่าเรือแหลมฉบัง-ปราจีนบุรี ยังไม่ได้ข้อสรุปเส้นทางที่ชัดเจน ชาวบ้านต้องวิตกเรื่องการเวนคืน แนะนำให้ศึกษาผลกระทบที่ยังมีอีกมาก ทั้งการจัดการระบบ ขวางเส้นทางการไหลของน้ำ และทางขนานที่รถบรรทุกจะหนีด่านเก็บเงินมาใช้ร่วมประชาชน

วันนี้ (16 พ.ย.)  ณ ห้องประชุมพัฒนา คอนเวนชั่น พัฒนากอล์ฟ แอนด์ สปอร์ต  รีสอร์ท  อำเภอศรีราชา จังหวัดชลบุรี นายนิติ  วิวัฒน์วานิช นายอำเภอศรีราชา เป็นประธานเปิดการสัมมนาสรุปผลการศึกษาโครงการ (การประชุมใหญ่ ครั้งที่ 3) โครงการศึกษาความเหมาะสมด้านเศรษฐกิจ วิศวกรรมและผลกระทบสิ่งแวดล้อมทางหลวงพิเศษระหว่างเมืองสายชลบุรี-หนองคาย ตอน ชลบุรี (ท่าเรือแหลมฉบัง)-ปราจีนบุรี  (ทางหลวงหมายเลข 359) ภายใต้โครงการศึกษาจัดทำแผนกลยุทธ์การพัฒนาทางหลวงพิเศษระหว่างเมืองของประเทศไทย โดยมีประชาชนร่วมรับฟังครั้งนี้นับ 1,000 คน

โครงการดังกล่าวเป็นแผนตามกลยุทธ์การพัฒนาทางหลวงพิเศษระหว่างเมืองของประเทศไทย ซึ่งเป็นเส้นทางยุทธศาสตร์ ตามแนวเศรษฐกิจเหนือ-ใต้ ที่มีความสำคัญสูง ในการรองรับการเดินทางของประชาชนและภาคการขนส่งสินค้า เชื่อมโยงการเดินทางและการขนส่งสินค้าระหว่างพื้นที่เศรษฐกิจภาคตะวันออกและภาคตะวันออกเฉียงเหนือ

โดยแนวเส้นทางโครงการมีจุดเริ่มต้น บริเวณท่าเรือแหลมฉบัง จ.ชลบุรี และไปสิ้นสุดบริเวณทางหลวงหมายเลข 359 รวมระยะทางประมาณ 125 กิโลเมตร ครอบคลุมพื้นที่ศึกษาจำนวน 3 จังหวัด 10 อำเภอ ประกอบด้วย จ.ชลบุรี ได้แก่ อ.บางละมุง  อ.ศรีราชา  อ.หนองใหญ่  อ.บ้านบึง อ.บ่อทอง และ อ.เกาะจันทร์ ส่วน จ.ฉะเชิงเทรา ได้แก่ อ.แปลงยาว  อ.สนามชัยเขต และ อ.พนมสารคาม และ จ. ปราจีนบุรี ได้แก่ อ.ศรีมหาโพธิ์ เป็นทางหลวงขนาด 4 - 8 ช่องจราจร และมีด่านเก็บค่าธรรมเนียมผ่านทาง จำนวน 6 แห่ง อยู่บริเวณทางแยกต่างระดับ ประกอบด้วย ด่านศรีราชา ด่านบ่อวิน        ด่านหนองใหญ่ ด่านบ่อทอง ด่านสนามชัยเขต และด่านศรีมหาโพธิ์

ด้านประชาชนที่เข้าร่วมการสัมมนาในครั้งนี้ยังไม่เห็นด้วยกับการก่อสร้างเส้นทางดังกล่าว เพราะยังไม่มีการระบุเส้นทางการก่อสร้างที่ชัดเจน ทำให้ชาวบ้านเกิดความวิตกกังวลในเรื่องการถูกเวนคืน ราคาค่าเวนคืน รวมทั้งหากก่อสร้างถนนสายนี้เพื่อการขนส่งที่จะมีด่านเก็บค่าธรรมเนียมด้วยนั้น จะทำให้รถบรรทุกลงมาวิ่งบนทางคู่ขนานแทน ส่วนรถประชาชนที่อยู่โดยรอบเส้นทางดังกล่าวก็จะได้รับความเดือดร้อนตามมา รวมทั้งการศึกษาการไหลของน้ำอาจจะไปปิดกั้นเส้นทางน้ำ ทำให้เกิดน้ำท่วมพื้นที่โดยรอบได้ ซึ่งอยากให้กรมทางหลวงได้ศึกษาผลกระทบต่าง ๆ ให้มากกว่านี้ รวมทั้งในพื้นที่ยังมีเส้นทางต่างๆที่จะเกิดขึ้นอีกเป็นจำนวนมาก เพื่อรองรับโครงการ EEC. ดังนั้นหากโครงการดังกล่าวยังต้องใช้ระยะเวลาในการศึกษา โดยควรรอโครงการต่างๆที่จะเกิดขึ้นในเร็วๆนี้  เพื่อไม่ให้เกิดโครงการซ้ำซ้อนสร้างความสูญเสียต่องบประมาณในการลงทุน








ข่าวอื่นๆ ที่น่าสนใจ