saostar

Banner โฆษณา

เผยราคาที่ดินติดถนน อ.ศรีราชา ขยับ 100 ล้านบาทต่อไร่ หลัง EEC เกิด


  ประธานสภาอุตสาหกรรมจังหวัดชลบุรี เผยราคาที่ดินในพื้นที่ 3 จังหวัดโครงการ EEC ขยับสูงต่อเนื่อง รับความต้องการด้านการลงทุนทั้งภาคอุตสาหกรรม เกษตรกรรม และการท่องเที่ยว โดยเฉพาะ อ.ศรีราชา จ.ชลบุรี ในวันนี้ที่ดินติดถนนราคาพุ่งสูงถึง 100 ล้านบาทต่อไร่ จากการเข้ามากว้านซื้อของนักลงทุนรายใหญ่ทั้งในและต่างประเทศ ขณะที่ภาคธุรกิจทั้งกลุ่มอุตสาหกรรมขนาดกลาง และย่อม เริ่มปรับตัวรับการเปลี่ยนแปลงเพื่อให้สามารถทำการค้ากับต่างชาติได้

              นิสิตปริญญาเอก สาขาการพัฒนาองค์การและการจัดการสมรรถนะของมนุษย์ รุ่นที่ 10 ร่วมกับ วิทยาลัยพาณิชยศาสตร์ มหาวิทยาลัยบูรพา จัดงานเสวนาหัวข้อ “ทางเลือกทางรอดบริษัทสายพันธุ์ไทย ในระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก หรือ EEC” ณ ห้อง Auditorium ชั้น 8 วิทยาลัยพาณิชยศาสตร์ มหาวิทยาลัยบูรพา จ.ชลบุรี โดยมี ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.บรรพต วิรุณราช คณบดีวิทยาลัยฯ กล่าวให้การต้อนรับ และมี ดร.สาโรจน์ วสุวานิช ประธานสภาอุตสาหกรรมจังหวัดชลบุรี บรรยายพิเศษในประเด็น “แนวทางปฏิบัติเพื่อความคงอยู่บริษัทสหภัณฑ์ไทย” 
นอกจากนั้นยังมีวิทยากรร่วมเสวนา ประกอบด้วย นายเตชา จริตควร Cost Controller & Accounting assistant บริษัท เอส.ที.ที.พร็อพเพอร์ตี้ จำกัด, นายสกลวัสน์ แสงปพนศิริ Managing Director บริษัท ทรัพย์สุขสกล จำกัด และ ดร.พจนาถ ต้นประดิษฐ์ กรรมการอิสระ บริษัท WHALE LOGISTICS (THAILAND) Co., LTD ภายใต้จุดประสงค์ที่ต้องการเปิดโอกาสให้ประชาชน และชุมชน เตรียมความพร้อมรองรับการเปลี่ยนแปลงที่จะมีผลกระทบต่อความสำเร็จของการดำเนินธุรกิจในโลกโลกาภิวัฒน์ ทั้งด้านเศรษฐกิจ การเมือง และสังคม โดยเฉพาะการบริหารจัดการทรัพยากรมนุษย์ ทั้งในเชิงการบริหารจัดการภายในและภายนอกองค์กร เพื่อความพร้อมรับการเกิดขึ้นของโครงการ EEC ตลอดจนปัจจัยที่มีผลต่อการดำเนินงาน และประโยชน์ที่จะเกิดขึ้นกับประชาชน และชุมชน
ที่ดินติดถนน อ.ศรีราชา ขยับ 100 ล้านบาทต่อไร่ 
ดร.สาโรจน์ วสุวานิช ประธานสภาอุตสาหกรรมจังหวัดชลบุรี กล่าวว่าการเปลี่ยนแปลงที่เกิดกับ จ.ชลบุรี ก็คือสิ่งอำนวยความสะดวก และเม็ดเงินลงทุนที่มากับโครงการพัฒนาสาธารณูปโภคต่างๆ อาทิ การพัฒนาสนามบินอู่ตะเภา,การพัฒนาระบบการขนส่งทั้งทางบก และทางน้ำ โดยเฉพาะการเกิดขึ้นของท่าเรือแหลมฉบัง ระยะที่ 3 เพื่อเป็นประตูขนส่งสินค้าทางน้ำในภูมิภาคอาเซียน และการจัดโซนนิ่งต่างๆ ที่กำลังจะเปลี่ยนแปลงไป
ขณะที่ภาคธุรกิจขนาดกลางและขนาดเล็ก ได้เริ่มเปลี่ยนแปลงตัวเองอยู่ตลอดเวลา ก่อนการเข้ามาของโครงการ EEC โดยภาคธุรกิจต่างๆ ในพื้นที่ได้ปรับเปลี่ยนมุมมองทางธุรกิจ และนำนวัตกรรมสมัยใหม่เข้ามาใช้ เพื่อรองรับกฎระเบียบใหม่ๆ ให้สามารถทำการค้ากับบริษัทต่างชาติที่เป็นสากลได้
“ปัจจุบันภาคธุรกิจในพื้นที่เริ่มตื่นตัวกับการเปลี่ยนแปลงดังกล่าว โดยเฉพาะส่วนราชการก็ทุ่มเททรัพยากรในการปรับปรุงระบบการศึกษาเพื่อให้สอดรับกับความต้องการของภาคอุตสาหกรรมที่เปลี่ยนแปลงไป ไม่ว่าจะเป็นระดับอาชีวะศึกษา ที่เริ่มเดินหน้าผลิตบุคลากรที่มีความสามารถ สอดรับกับความต้องการของตลาดแรงงาน เช่นเดียวกับการผลิตนักศึกษาในระดับปริญญาตรี ที่ก่อนหน้านี้ไม่สอดรับกับความต้องการก็เริ่มเปลี่ยนแปลงไปตามข้อมูลความต้องการแรงงานของภาคเอกชน ”
ดร.สาโรจน์ ยังบอกอีกว่า การเกิดขึ้นโครงการ EEC ยังทำให้ราคาที่ดินในพื้นที่ 3 จังหวัดภาคตะวันออก คือ ฉะเชิงเทรา ระยอง และชลบุรี ขยับตัวสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ตามภาวะความต้องการด้านการพัฒนาภาคอุตสาหกรรม การท่องเที่ยว และภาคอสังหาริมทรัพย์ของนักลงทุนรายใหญ่ โดยเฉพาะ อ.ศรีราชา จ.ชลบุรี ที่ในวันนี้ราคาที่ดินติดถนนปรับสูงถึง 100 ล้านบาทต่อไร่ ส่วนที่ดินใน อ.สัตหีบ ก็ขยับสูงไม่แพ้กันจากการทุ่มงบประมาณของรัฐบาลในการพัฒนาสนามบินอู่ตะเภา ให้เป็นสนามบินพาณิชย์แห่งที่ 3 
“โดยเฉพาะโรงแรมริมทะเล ณ เวลานี้มีเพิ่มขึ้นมาก จากการลงทุนของกลุ่มทุนใหญ่ที่เข้ามา ซึ่งภาพรวมของราคาที่ดินใน 3 จังหวัดนี้ขยับตัวขึ้นหมด เราจะเห็นว่าการเกิดขึ้นของโครงการอีสเทิร์นซีบอร์ด ซึ่งมีเป้าหมายพัฒนาพื้นที่ 3 จังหวัด ในเนื้อที่รวม 8.3 ล้านไร่ ในวันนี้สามารถเปลี่ยนแปลงพื้นที่ 3 จังหวัด จากที่เคยเป็นเมืองเกษตรกรรม ให้ก้าวสู่การเป็นเขตอุตสาหกรรมได้สำเร็จแล้ว จนส่งผลให้ทั้ง ท่าเรือ สนามบิน และการขนส่งต่างๆ รวมทั้งอุตสาหกรรมต้นน้ำ อย่างเช่นกลุ่มปิโตรเคมี ที่เกิดขึ้นแล้ว โดยเฉพาะ ชลบุรี ถือว่าเป็นศูนย์อุตสาหกรรมขนาดใหญ่ และปัจจุบันพื้นที่ 3 จังหวัดนี้ยังมีกลุ่มนิคมอุตสาหกรรมมากที่สุด และยังมีอุตสาหกรรมยานยนต์ และชิ้นส่วน ที่ทำรายได้เข้าประเทศเป็นอันดับหนึ่งอีกด้วย ”ดร.สาโรจน์ กล่าว



ข่าวอื่นๆ ที่น่าสนใจ