รมช.คมนาคม นำคณะลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมการดำเนินงาน ท่าเรือแหลมฉบัง ท่าเรือขนถ่ายสินค้าที่ใหญ่ที่สุดของประเทศ พร้อมตรวจดูความคืบหน้าโครงการก่อสร้างท่าเทียบเรือชายฝั่ง (ท่าเทียบเรือ A),โครงการก่อสร้างศูนย์การขนส่งตู้สินค้าทางรถไฟ (SRTO) เขี้ยวเล็บสำคัญในการเสริมศักยภาพการขนถ่ายสินค้าทั้งทางน้ำ และทางราง เชื่อรองรับการเข้ามาของภาคอุตสาหกรรมใน EEC ได้อย่างเต็มที่ ขณะที่แผนก่อสร้างท่าเรือแหลมฉบัง เฟส 3 มั่นใจเป็นไปตามเป้าหมาย และน่าจะสรรหาผู้รับเหมาก่อสร้างได้ภายในปีนี้
วันนี้ (18 ม.ค. 2561) นายไพรินทร์ ชูโชติถาวร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม พร้อมคณะ ได้เดินทางตรวจเยี่ยมการดำเนินงานของท่าเรือแหลมฉบัง อ.ศรีราชา จ.ชลบุรี โดยมี ร้อยตำรวจตรี มนตรี ฤกษ์จำเนียร ผู้อำนวยการท่าเรือแหลมฉบัง พร้อมด้วย เรือโทยุทธนา โมกขาว รองผู้อำนวยการท่าเรือแหลมฉบัง และคณะผู้บริหารท่าเรือแหลมฉบัง ให้การต้อนรับที่ห้องประชุม 1 อาคารบริหารท่าเรือแหลมฉบัง พร้อมบรรยายสรุปการดำเนินงานของท่าเรือแหลมฉบัง ก่อนลงพื้นที่เยี่ยมชมโครงการก่อสร้างท่าเทียบเรือชายฝั่ง (ท่าเทียบเรือ A),โครงการก่อสร้างศูนย์การขนส่งตู้สินค้าทางรถไฟ (SRTO)
นายไพรินทร์ เผยว่า การเดินทางลงพื้นที่ในครั้งนี้ เพื่อตรวจเยี่ยมและเยี่ยมชมการทำงานของท่าเรือแหลมฉบัง ซึ่งเป็นท่าเรือขนถ่ายสินค้าที่ใหญ่ที่สุดของประเทศ และปัจจุบันยังสามารถขนถ่ายตู้สินค้าทั้งส่งออกและนำเข้าได้มากกว่า 7 ล้านทีอียู ซึ่งถือว่าเป็นท่าเรือชั้นนำ และในอนาคตยังจะมีปริมาณตู้สินค้าถึง 15-18 ล้าน ทีอียู หลังการเกิดขึ้นของโครงการ EEC. และรองรับอุตสาหกรรมจากประเทศเพื่อนบ้าน และเมื่อถึงวันนั้นจะทำให้ท่าเรือแหลมฉบัง ติดอันดับ 1 ใน 3 ของท่าเรือขนาดใหญ่ในภูมิภาคอาเซียน ถัดจากประเทศสิงคโปร์ และประเทศมาเลเซีย
นอกจากนั้นยังได้มอบนโยบายการทำงานต่อคระผู้บริหารท่าเรือแหลมฉบัง โดยเฉพาะการพัฒนาโครงการเชื่อมต่อภาคการขนส่งแบบไร้รอยต่อทั้ง ทางบก ทางรางและทางน้ำ ควบคู่ไปกับการดูแลด้านสิ่งแวดล้อม เพื่อต้องการให้เป็นท่าเรือที่มีความสวยงาม และเขียวขจี พร้อมทั้งไม่สร้างภาระและทำลายสิ่งแวดล้อม ขณะที่โครงการก่อสร้างศูนย์การขนส่งตู้สินค้าทางรถไฟ (SRTO) มีจุดประสงค์สำคัญที่การรองรับตู้สินค้าที่จะเพิ่มขึ้นไม่น้อยกว่า 10 ล้านทีอียู ซึ่งจำเป็นต้องนำ ระบบรางเข้ามาช่วย เพื่อเพิ่มศักยภาพการขนถ่ายสินค้าทางรางให้ได้จาก 1 ล้าน ทีอียู เป็น 4-5 ล้านทีอียู และยังลดปัญหาความแออัดบนท้องถนน ลดต้นทุนด้านการขนส่งของไทยตามนโยบายของรัฐบาลไว้
โดยขณะนี้รัฐบาลได้กำหนดแผนการพัฒนาพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก หรือ EEC ซึ่งการท่าเรือได้รับมอบหมายภารกิจในการรองรับการขยายตัวของภาคการลงทุน โดยวางแผนให้ท่าเรือแหลมฉบัง เฟส 3 ให้เป็นโครงสร้างพื้นฐานที่สำคัญ ซึ่งขณะนี้แผนแม่บทการก่อสร้างใกล้จะแล้วเสร็จ นอกจากนั้นการทำผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมก็เชื่อว่าจะแล้วเสร็จพร้อมๆกัน โดยคาดว่าสิ้นปีนี้แผนดำเนินงานต่างๆ จะเป็นไปตามเป้าหมายที่วางไว้ และน่าจะดำเนินการสรรหาผู้มีสิทธิในการเข้ามาก่อสร้างส่วนต่างๆ ของท่าเรือแหลมฉบัง เฟส 3 ได้
ส่วนปัญหาผลกระทบจากการเปิดใช้ถนนมอเตอร์เวย์ สาย 7 ชลบุรี-พัทยา ที่ก่อให้เกิดปัญหาการจราจรติดขัดอย่างหนัก และยังทำให้ผู้ประกอบการขนส่งสินค้าหวั่นว่าจะส่งผลกระทบต่อการขนส่งสินค้ามายังท่าเรือแหลมฉบังนั้น ซึ่งเรื่องดังกล่าวได้มีการพูดคุยกับกรมทางหลวงแล้ว ซึ่งกรมทางหลวง ก็เตรียมแผนในการขยายพื้นที่ถนนคู่ขนาน เพื่อรองรับรถบรรทุก ที่ไม่สามารถวิ่งบนถนนมอเตอร์เวย์ได้ ซึ่งในช่วงแรกๆ อาจจะมีปัญหาบ้าง แต่เมื่อประชาชนคุ้นเคยแล้ว การจราจรน่าจะดีขึ้น
ความคิดเห็น
/