saostar

Banner โฆษณา

ท่าเรือแหลมฉบัง ให้การต้อนรับเรือ ONE COLUMB บรรทุก 14,000 ตู้


ท่าเรือแหลมฉบัง ให้การต้อนรับเรือ “ONE COLUMB”  เรือคอนเทนเนอร์ขนาดใหญ่ เข้ามารับสินค้าที่ท่าเทียบเรือ  D1  ท่าเรือแหลมฉบัง   ครั้งแรก ที่มีความยาวเกือบ 400  เมตร สามารถบรรทุกตู้คอนเทนเนอร์ครั้งละ  14,000  TEU

วันนี้(26 พ.ย. 2561)   ร.ต.ต.มนตรี  ฤกษ์จำเนียร  ผู้อำนวยการท่าเรือแหลมฉบัง รักษาการแทนผู้อำนวยการการท่าเรือแห่งประเทศไทย  นายยุทธนา พูลพิพัฒน์  ผู้อำนวยการสำนักงานศุลกากรท่าเรือแหลมฉบัง   นายสตีเฟน  แอชเวิร์ธ  กรรมการผู้จัดการ ท่าเรือฮัทชิสัน ประเทศไทย   นายชิโร  ชะโดะชิมะ  เอกอัครราชทูตญี่ปุ่นประเทศไทย  พร้อมแขกผู้มีเกียรติ ร่วมแสดงความยินดีและให้การต้อนรับเรือ “ONE COLUMB”  เรือคอนเทนเนอร์ขนาดใหญ่ ที่บริเวณท่าเทียบเรือ บริษัท ฮัทชิสัน แหลมฉบัง เทอร์มินัล จำกัด (D1)
ร.ต.ต.มนตรี   กล่าวว่า  ทางท่าเรือแหลมฉบัง มีความยินดีที่เรือคอนเทนเนอร์ขนาดใหญ่ ขนาด 367 เมตร เข้ามายังท่าเทียบเรือ D1 ท่าเรือแหลมฉบัง ซึ่งแสดงให้เห็นว่าท่าเรือแหลมฉบัง มีโครสร้างพื้นฐาน ,มีกฎระเบียบ ,มีการบริการที่ดี ทำให้สายเดินเรือดังกล่าว เข้ามาใช้บริการ เพราะเรือขนาดใหญ่เช่นนี้ สามารถไปใช้บริการท่าเทียบเรือไหนก็ได้  แต่ตั้งใจมาที่ท่าเรือแหลมฉบัง โดยเดินทางมาจากประเทศญี่ปุ่น ซึ่งเป็นเรือเปล่าและมารับตู้สินค้าที่แหลมฉบัง จำนวน 2,500 TEU
หลังจากนี้จะเดินทางไปรับตู้สินค้าที่  ประเทศเวียดนาม  สิงคโปร์  โคลัมโบ  ยุโรป  จากนั้นจะไปสู่ประเทศอังกฤษ และย้อนกลับมาเส้นทางเดินที่ท่าเรือแหลมฉบัง  โดยใช้ระยะเวลาในการเดินทาง 63 วัน  ซึ่งจะมีเรือในกลุ่มดังกล่าวจะเข้าสู่ท่าเรือแหลมฉบังทุกสัปดาห์

ร.ต.ต.มนตรี  กล่าวว่า  สำหรับประโยชน์ที่การท่าเรือแห่งประเทศไทยและท่าเรือแหลมฉบัง ได้รับจากเรือ“ONE COLUMB “ นั้น คือค่าใช้จ่ายจะถูกลง เพราะถ้าไม่มีเรือขนาดใหญ่ ตู้สินค้าจะถูกไปถ่ายลงที่ประเทศสิงคโปร์ และต้องมีการขนถ่ายตู้สินค้าถึง 2 ครั้ง ซึ่งทำให้ค่าใช้จ่ายและสินค้าที่ทำการขนถ่ายมีราคาสูงขึ้นด้วย ดังนั้นเมื่อมีเรือขนาดใหญ่เข้ามารับตู้สินค้า จะทำให้ประชาชนคนไทยได้รับประโยชน์ในเรือราคาสินค้าที่ถูกลง  ขณะนี้มีสายเดินเรือขนาดใหญ่ ให้ความสนใจหลัง “ONE COLUMB “ เข้ามาใช้บริการ  และได้รับการดูแลและต้อนรับจากท่าเรือแหลมฉบัง

ด้านนายอาณัติ  มัชฌิมา  ผู้จัดการอาวุโส ฝ่ายปฏิบัติการบริษัท ฮัทชิสัน พอร์ต ไทยแลนด์  จำกัด  กล่าวว่า บริษัท ฮัทชิสันฯ  เริ่มให้บริการท่าเทียบเรือ D ระยะที่ 1 ประมาณกลางปี 2018 โดยมีปั้นจั่นยกตู้สินค้าหน้าท่า (quay crane)  จำนวน  3 คัน และปั้นจั่นยกตู้สินค้าแบบล้อยาง (RTG) ของท่าเทียบเรือชุด D ทั้งหมด จำนวน 8 คัน โดยติดตั้งระบบปฏิบัติการแบบกึ่งอัตโนมัติ ที่ใช้เทคโนโลยีควบคุมการปฏิบัติงานระยะไกล (remote control) ซึ่งเป็นท่าเทียบเรือแห่งแรกของประเทศไทย

โดยอุปกรณ์เครื่องมือดังกล่าว ช่วยให้การปฏิบัติงานหน้าท่าและการปฏิบัติงานภายในลานวางตู้สินค้ามีความปลอดภัย และยังช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการปฏิบัติงานยกขนตู้สินค้าให้กับสายการเดินเรือ ผู้นำเข้าและผู้ส่งออกที่มาใช้บริการท่าเทียบเรือของกลุ่มบริษัท ฮัทชิสันฯ ได้เป็นอย่างดี ที่สำคัญช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยภายใต้โครงการระเบียงเศรษฐกิจพื้นที่ภาคตะวันออก หรืออีอีซี สอดคล้องกับนโยบายของรัฐบาลไทยเพื่อก้าวสู่ไทยแลนด์ 4.0





ข่าวอื่นๆ ที่น่าสนใจ