ท่าเรือแหลมฉบัง เปิดใช้ท่าเรือชายฝั่ง ท่าเทียบเรือ A เพื่อเป็นการสนับสนุนการขนส่งทางลำน้ำระหว่าง ท่าเรือกรุงเทพ และ ท่าเรือแหลมฉบัง ลดค่าใช้จ่ายด้านการขนส่งของประเทศ ด้าน รมช.เผยให้ความสำคัญในการเฝ้าระวังเรือสินค้าที่จะเข้าเทียบท่ามาก พร้อมเพิ่มจำนวนประเทศกลุ่มเสี่ยงไม่ให้เรือเข้าเทียบท่าจาก 4 ประเทศ เป็น 18 ประเทศป้องไวรัสโควิด19
วันนี้ (13 มี.ค.) ดร.อธิรัฐ รัตนเศรษฐ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม เป็นประธานในพิธีเปิดท่าเทียบเรือชายฝั่ง (ท่าเทียบเรือ A) พร้อมด้วย ร.ต.ต.มนตรี ฤกษ์จำเนียร รองผู้อานวยการการท่าเรือแห่งประเทศไทย เรือโท ยุทธนา โมกขาว ผู้อานวยการท่าเรือแหลมฉบัง นายบัณฑิต สาครวิศวะ รองผู้อานวยการท่าเรือแหลมฉบัง
เรือโทยุทธนา โมกขาว ผู้อำนวยการท่าเรือแหลมฉบัง อ.ศรีราชา จ.ชลบุรี เผยถึงโครงการพัฒนาท่าเทียบเรือชายฝั่ง (ท่าเทียบเรือ A) ที่ท่าเรือแหลมฉบัง เพื่อเป็นการพัฒนาเส้นทางการเชื่อมโยงโครงข่ายการขนส่งกับท่าเรือแหลมฉบัง สนองตอบนโยบายรัฐบาล ในการพัฒนาการขนส่งทางน้ำและกิจการพาณิชยนาวี ซึ่งเป็นการเพิ่มปริมาณการขนส่งทางรางและทางน้ำ และยังเป็นการยกระดับมาตรฐานการบริการให้ทัดเทียมกับท่าเรือชั้นนำในภูมิภาค
นอกจากนี้ยังสนับสนุนนโยบายสำคัญในการปรับเปลี่ยนรูปแบบขนส่ง (Shift Mode) จากทางถนนเป็นทางรางและทางลำน้ำ เพื่อเป็นการพัฒนาระบบโลจิสติกส์โดยรวมของประเทศ ลดต้นทุนโลจิสติกส์ ลดปัญหาด้านการจราจร ลดการใช้พลังงาน อีกทั้งส่งเสริมการขนส่งทางเรือชายฝั่งให้เป็นรูปธรรม และสนับสนุนการขนส่งสินค้าระหว่าง ท่าเรือแหลมฉบัง และท่าเรือกรุงเทพ รวมถึงการขนส่งสินค้าทางลำน้ำของเอกชน และท่าเรือขนส่งสินค้าชายฝั่งทะเลอ่าวไทยบริเวณพื้นที่ฐานการผลิตที่สำคัญในภาคใต้ เช่น จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ชุมพร และสุราษฎร์ธานี กับ ท่าเรือแหลมฉบัง
ท่าเทียบเรือ A มีหน้าท่าเป็นรูปตัว L มีความยาว หน้าท่าที่ 125 เมตร และ 120 เมตร มีความลึกหน้าท่า 10 เมตร มีขีดความสามารถรองรับเรือชายฝั่งขนาดระวางบรรทุก 3,000 DWT ขนส่งตู้สินค้าได้คราวละ 200 DWT และขนาดระวางบรรทุก 1,000 DWT ขนส่งตู้สินค้าได้คราวละ 100 DWT ได้พร้อมกันในเวลาเดียวกัน มีความสะดวกและปลอดภัย รวมทั้งสามารถใช้ประโยชน์จากพื้นที่หน้าท่าและหลังท่า ได้อย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งได้มีการก่อสร้างและติดตั้งเครื่องมือทุ่นแรง เช่น ปั้นจั่นหน้าท่าชนิดเดินบนราง (Rail Mounted Gantry Crane : RMG) และปั้นจั่นเรียงตู้สินค้าในลาน (Mobile Harbor Crane) อย่างละ 1 ตัว
พร้อมทั้งรถคานเคลื่อนที่ล้อยาง (Rubber Tyred Gantry Crane : RTG) จำนวน 2 คัน เพื่อเพิ่มศักยภาพรองรับตู้สินค้าได้ 300,000 TEU ต่อปี เพิ่มขึ้นจาก 5% เป็น 10% ซึ่งปัจจุบันปริมาณตู้สินค้าขนส่งทางเรือชายฝั่งที่ท่าเรือแหลมฉบัง มีแนวโน้มเติบโตอย่างต่อเนื่อง นอกจากนี้ ยังได้พัฒนาระบบเทคโนโลยีสารสนเทศมาใช้ในการบริหารจัดการสนับสนุนการดำเนินงาน ประกอบด้วย ระบบบริหารจัดการตู้สินค้า และระบบบริหารจัดการลานวางตู้สินค้า ระบบจัดการประตูเข้าออก ระบบบริหารการทำงานเครื่องมือทุ่นแรง เพื่อสนับสนุนนโยบายของรัฐในการพัฒนาระบบโลจิสติกส์ของประเทศ
ขณะที่ ดร.อธิรัฐ รัตนเศรษฐ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม กล่าวว่า รู้สึกภาคภูมิใจ ที่โครงการนี้ เป็นโครงการที่อานวยความสะดวกให้กับผู้ประกอบการขนส่งสินค้าโดยเรือชายฝั่งที่มาใช้บริการ ที่ท่าเรือแหลมฉบัง เพื่อส่งสินค้าไปยังต่างประเทศ ซึ่งที่ผ่านมา ท่าเรือแหลมฉบัง ยังไม่มีท่าเทียบเรือชายฝั่ง ที่เปิดให้บริการเป็นการเฉพาะ
ดังนั้น การเปิดให้บริการท่าเทียบเรือชายฝั่ง ณ ท่าเรือแหลมฉบัง จะช่วยให้ผู้ประกอบการเรือชายฝั่งได้รับความสะดวกมากยิ่งขึ้น ช่วยลด Waiting.Time ของเรือ นอกจากนั้น การขนส่งโดยเรือชายฝั่งเป็นการขนส่งที่ประหยัดต่อขนาด (Economies of Scale) ที่สามารถลดการใช้พลังงาน ลดปัญหาการจราจร และลดต้นทุนโลจิสติกส์ของประเทศ
นอกจากนี้ ดร.อธิรัฐ ยังเผยถึงนโยบายในการเฝ้าระวังไวรัสโวิด-19 ว่า ทางกระทรวงคมนาคม ได้ให้ความสำคัญในการเฝ้าระวังเรือสินค้าที่จะเข้าเทียบท่ามากยิ่งขึ้น และได้เพิ่มจำนวนประเทศกลุ่มเสี่ยงทึ่จะไม่ให้เรือเข้าเทียบท่าจาก 4 ประเทศ เป็น 18 ประเทศ และกำหนดให้เรือที่จะเข้าเทียบท่าขนถ่ายสินค้ามายังเรือแหลมฉบังจะต้องมีแพทย์ประจำเรือ รวมทั้งส่งรายชื่อลูกเรือ และผลการตรวจร่างกายล่วงหน้าก่อนอย่างน้อยก่อนเรือเข้าเทียบท่าเป็นเวลา 24 ชม. และวันนี้ จะได้เดินทางไปตรวจสอบมาตรการในท่าเทียบเรือท่องเที่ยว ท่าเรือแหลมฉบัง อีกด้วย
ความคิดเห็น
/