กลุ่มไทยออยล์จัดประชุมชี้แจงมาตรการการขนส่งชิ้นส่วนโครงสร้างและอุปกรณ์ เข้าพื้นที่ก่อสร้างโครงการพลังงานสะอาด ให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้รับทราบข้อมูลการดำเนินการ ชี้พยายามส่งผลกระทบกับประชาชนให้น้อยที่สุด
วันนี้ (4 มี.ค. 64) กลุ่มไทยออยล์ นายเลอเลิศ อมรสังข์ ผู้จัดการประชาสัมพันธ์โรงกลั่น
บริษัท ไทยออยล์ จำกัด (มหาชน) ได้จัดประชุมร่วมกับหน่วยงานในพื้นที่ที่เกี่ยวข้อง
เพื่อสื่อสารข้อมูลการเตรียมการขนส่งชิ้นส่วนโครงสร้างและอุปกรณ์เข้ามาในพื้นที่โครงการพลังงานสะอาด
(CFP) พร้อมทั้งชี้แจงข้อมูลมาตรการที่เข้มข้นในการลดผลกระทบต่อประชาชนและชุมชนในพื้นที่
ทั้งในด้านความปลอดภัย และด้านสิ่งแวดล้อมทั้งทางบกและทางทะเล ให้หน่วยงานในพื้นที่ที่เกี่ยวข้องได้แก่
กรมทางหลวง ตำรวจภูธรแหลมฉบัง ตำรวจน้ำ เทศบาลนครแหลมฉบัง
และสื่อมวลชน ได้รับทราบ
ตามที่กลุ่มไทยออยล์ได้ดำเนินโครงการพลังงานสะอาด
หรือ Clean Fuel Project (CFP) เพื่อขยายกำลังการกลั่นจาก
275,000 บาร์เรลต่อวัน เป็น 400,000 บาร์เรลต่อวัน รวมถึงผลิตผลิตภัณฑ์ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมให้เป็นไปตามมาตรฐานยูโร
5
อีกทั้งยังเป็นโครงการที่สนับสนุนนโยบายของภาครัฐในการยกระดับเศรษฐกิจของภูมิภาคตามโครงการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก
หรือ EEC ซึ่งล่าสุดโครงการดังกล่าวได้เข้าสู่ขั้นตอนการขนส่งชิ้นส่วนโครงสร้างและอุปกรณ์เข้ามาในพื้นที่โครงการฯ
โดยกลุ่มไทยออยล์ได้จัดประชุมร่วมกับหน่วยงานในพื้นที่ที่เกี่ยวข้องเพื่อชี้แจงข้อมูลการขนส่งดังกล่าว
รวมทั้งข้อมูลมาตรการต่างๆ เพื่อลดผลกระทบสู่ประชาชนในพื้นที่
นายเลอเลิศ อมรสังข์
ผู้จัดการประชาสัมพันธ์โรงกลั่น บริษัท ไทยออยล์ จำกัด (มหาชน) ชี้แจงว่า
โครงการพลังงานสะอาดจะใช้เวลาขนส่งชิ้นส่วนโครงสร้างและอุปกรณ์ต่างๆ โดยรวมประมาณ 2 ปี ทั้งทางบกและทางทะเล เพื่อสร้างความมั่นใจแก่ประชาชนและชุมชนในพื้นที่
กลุ่มไทยออยล์ได้กำหนดมาตรการอย่างเข้มข้นเพื่อป้องกันผลกระทบจากการขนส่งดังกล่าว
ได้แก่ การประกอบโครงสร้างหรืออุปกรณ์มาจากต้นทางหรือโรงงานผู้ผลิต
เพื่อลดผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมที่อาจจะเกิดขึ้น
พร้อมทั้งหลีกเลี่ยงการขนส่งในช่วงเวลาเร่งด่วน โดยจะใช้ช่วงเวลาที่เหมาะสมสำหรับแต่ละเส้นทาง
และสื่อสารไปยังผู้มีส่วนได้เสียที่เกี่ยวข้องกับการขนส่งอย่างรอบด้าน
นอกจากนี้
กลุ่มไทยออยล์ยังได้กำหนดมาตรการด้านความปลอดภัยและสิ่งแวดล้อมของการขนส่งทางทะเล
โดยได้ประสานงานกับหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้องในการช่วยกำกับดูแลเส้นทางเข้า-ออกของเรือขนส่ง
และใช้ผู้รับจ้างที่มีความเชี่ยวชาญเฉพาะด้านการขนส่งทางทะเล
ปฏิบัติงานตามมาตรฐานสากลในการขนส่งสินค้าขนาดใหญ่ทางทะเล
และมีประสบการณ์เป็นที่ยอมรับในระดับนานาชาติ
รวมถึงกำหนดให้มีการควบคุมผลกระทบการจราจรทางทะเล
โดยการแจ้งตารางการขนส่งให้แก่พี่น้องในชุมชนที่อยู่ใกล้เส้นทางขนส่ง
กลุ่มประมงพื้นบ้าน
และผู้ประกอบการธุรกิจเรือที่อยู่ใกล้กับท่าเรืออ่าวอุดมทราบล่วงหน้าทุกครั้ง
ความคิดเห็น
/