saostar

Banner โฆษณา

รองนายกรัฐมนตรีตรวจการให้เรือสินค้าขนาดใหญ่เทียบท่า แก้ปัญหาตู้ขาดแคลน

จุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ลงพื้นที่ท่าเรือแหลมฉบัง นำตรวจ "เรือสินค้าขนาดใหญ่" ความยาวมากกว่า 300 เมตรแต่ไม่เกิน 400 เมตรเข้ามาเทียบท่าได้ เพื่อแก้ปัญหาตู้สินค้าส่งออกขาดแคลน ช่วยการส่งออกเพิ่มขึ้นกว่า 35,000 ล้านบาท  ชี้ความร่วมมือ "พาณิชย์-ภาคเอกชน-กรมเจ้าท่า"

วันนี้ ( 26 พ.ค.2564) นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ และคณะลงพื้นที่ ฮัทชินสันพอร์ท ท่าเทียบเรือ D1 ท่าเรือแหลมฉบัง อําเภอศรีราชา จังหวัดชลบุรี เพื่อตรวจเยี่ยมการนำเรือขนาดมากกว่า 300 เมตร แต่ไม่เกิน 400 เมตรเข้ามาในประเทศไทย คือเรือสินค้า MSC Amsterdam เพื่อแก้ไขปัญหาการขาดแคลนตู้สินค้าของประเทศไทย

นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ กล่าวว่า สถานการณ์การส่งออกของไทย โดยเฉพาะในปี 2564 ตัวขับเคลื่อนสำคัญคือการส่งออกและต้นปีนี้การส่งออกก็เป็นบวก เดือนมีนาคมเป็นบวกถึง 8.47% และเดือนเมษายนบวกถึง 13.09% และยังมีแนวโน้มที่ดีขึ้น การส่งออกเป็นตัวจักรสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ การแก้ปัญหาการส่งออกจึงเป็นเรื่องที่มีความสำคัญ การส่งออกประกอบด้วยการขนสินค้าทางบก ทางอากาศและทางเรือ การขนส่งสินค้าทางเรือมีประเด็นปัญหาคือตู้คอนเทนเนอร์ที่บรรจุสินค้าเพื่อลงเรือส่งออกขาดแคลนเนื่องจากก่อนเกิดสถานการณ์โควิดมีการส่งสินค้าไปสหรัฐและสหภาพยุโรปจำนวนมากแต่ส่งสินค้ากลับมาน้อย ตู้ไปค้างอยู่ที่สหรัฐอเมริกาและสหภาพยุโรป แต่ประเทศจีนมีศักยภาพสามารถนำตู้ไปใช้ในการส่งออกได้มาก

สำหรับประเทศไทยมีการประชุม กรอ.พาณิชย์ การท่าเรือร่วมกับภาคเอกชนมาโดยใกล้ชิดได้ข้อสรุปว่าจากนี้ไปจะแก้ปัญหาโดยจะเปิดโอกาสให้เรือขนาดใหญ่ขนาด 300-400 เมตรเข้ามาเทียบท่าที่ท่าเรือแหลมฉบังได้จะช่วยให้ ลดต้นทุนการขนตู้เปล่าและตู้ที่มีสินค้าเข้ามา ซึ่งจะทำให้มีตู้เปล่าที่ส่งสินค้าออกได้มากขึ้น ซึ่งที่ประชุมคณะรัฐมนตรีเห็นชอบให้การท่าเรือแก้ประกาศจับประกาศใหม่อนุญาตให้เรือ 300-400 เมตรเข้าเทียบท่าได้ ซึ่งขณะนี้มีเรือขนาดใหญ่เข้ามาหลายลำแล้วตั้งแต่วันที่ 8 กุมภาพันธ์ 2564 และ 17 เมษายน 2564 20 เมษายน 2564 และวันที่ 5 พฤษภาคม เป็นลำใหญ่ขนาด 399 เมตร สามารถบรรทุกตู้เข้ามาได้ประมาณ 12,000 ตู้ และวันนี้เรือสินค้า MSC Amsterdam ขนาด 399 เมตรสามารถบรรทุกตู้เปล่าเข้ามาได้ประมาณ 4,000 ตู้ สามารถบรรจุสินค้าลงไปได้ประมาณ 80,000 ตัน คิดเป็นมูลค่าสินค้าที่ส่งออกประมาณ 6,000 ล้านบาท และยังมีอีกสองลำที่จะเข้ามาวันที่ 2 มิถุนายน 395 เมตรและ 19 มิถุนายน 398 เมตร

" รวมแล้วทั้งหมดจะเป็น 7 ลำ สามารถบรรทุกตู้เปล่าเข้ามาประมาณ 23,000 ตู้ สามารถขนสินค้าออกไปได้ประมาณ 458,000 ตันรวมมูลค่าให้การส่งออกเพิ่มขึ้นจากการได้ตู้เปล่าประมาณ 35,000 ล้านบาท คือผลที่เป็นรูปธรรมจากการร่วมกันแก้ปัญหาระหว่างกระทรวงพาณิชย์ ภาคเอกชนและกรมเจ้าท่า

 ขณะนี้ตู้เริ่มเข้าสู่สภาวะสมดุลความต้องการใช้ตู้เปล่าเดือนหนึ่งประมาณ 128,000 ตู้ เรามีตู้ประมาณ 130,000 ตู้ เริ่มเข้าสู่สภาวะสมดุลแล้ว แต่ต้องติดตามสถานการณ์และกรมเจ้าท่าต้องอำนวยความสะดวกโดยเร็วที่สุด เปิดโอกาสให้เรือขนาดใหญ่เอาตู้เปล่าเข้ามาและเราส่งสินค้าออกไปได้มากขึ้นจะช่วยให้ตัวเลขส่งออกของเราเป็นบวกได้ต่อและจะเป็นตัวจักรสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศได้ต่อไป

           ผมเชื่อว่าศักยภาพการส่งออกสินค้าไทยไปต่างประเทศยังมีเพิ่มขึ้น ภาคเอกชนสายการเดินเรือต้องเข้ามาช่วยในการจัดหาตู้และกรมเจ้าท่าต้องอนุญาตโดยเร็วในการดำเนินการ และได้มีประกาศใหม่ให้ใบอนุญาตสำหรับเรือขนตู้ขนาด 300-400 เมตรภายในเวลา 2 ปี แต่ตนจะไปเจรจาว่าทำไมไม่เป็นตลอดไปเพราะการส่งออกยังเป็นกลไกขับเคลื่อนสำคัญ หากจำเป็นต้องปรับปรุงร่องน้ำหรือปรับปรุงอุปกรณ์อำนวยความสะดวก ก็จะต้องลงทุนเพิ่มเติมเพื่อแลกกับตัวเลขการส่งออกที่นำรายได้เข้าประเทศตนเชื่อว่าคุ้มแน่นอน " รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์กล่าว









 

ข่าวอื่นๆ ที่น่าสนใจ