ชมรมชาวใต้ศรีราชา จัดงานประเพณีบุญสารทเดือนสิบ สืบสานวัฒนธรมมท้องถิ่นของคนภาคใต้ ประเพณีชิงเปรต เพื่อแผ่ส่วนกุศล ให้เป็นทานแก่ผู้ล่วงลับที่ไม่มีญาติหรือญาติไม่ได้มาร่วมทำบุญ และมีการแย่งชิงอาหารที่เพราะเชื่อว่าจะได้กุศลและสิริมงคล
วันที่ 8 ตุลาคม 2566 ที่ วัดจุกกะเฌอ ตำบลบึง อำเภอศรีราชา
จังหวัดชลบุรี นายสนธยา คุณปลื้ม
อดีตรัฐมนตรีกระทรวงวัฒนธรรม เป็นประธานเปิดงานประเพณีบุญสารทเดือนสิบ นายชำนาญ ขาวทอง ประธานชมรมชาวใต้ศรีราชา
กล่าวถึงความเป็นมาของการจัดงาน
โดยได้รับเกียรติจาก นายวิทยา คุณปลื้ม นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดชลบุรี
,นายเชาวลิตร แสงอุทัย
อดีตผู้ว่าราชการจังหวัดกำแพงเพชร นางสาวนริศรา ทิพยางกูร ปลัดอำเภอศรีราชา นางจินดา ถนอมรอด นายกเทศมนตรีนครแหลมฉบัง ร่วมในพิธีเปิดงาน
โดยในงานมีการมอบทุนการศึกษาให้แก่นักเรียนที่เรียนดี
แต่ขาดแคลนทุนทรัพย์ จำนวน 60 ทุน
พร้อมการแสดงจากชมรมลีลาศศรีราชาและชมรมดนตรีในสวนชุด
"ไลน์แดนซ์รำวงเวียนครก" ,
การแสดงจากนักเรียน รร.วัดจุกกะเฌอ ชุด
"ชวนน้องล่องใต้"
และการแสดงจากลูกหลานชาวใต้ ชุด "รำมโนราห์ตัวอ่อน"
พร้อมขบวนแห่หมรับ พิธีชิงเปรต และร่วมรับประทานอาหารพื้นบ้านของภาคใต้ เช่น
แกงเหลือง คั่วกลิ้ง แกงไตปลา ไก่ต้มขมิ้น
เพื่อให้คนรุ่นหลังได้เรียนรู้วัฒนธรรมภาคใต้ ทั้งด้านการแสดง
และอาหารพื้นบ้านด้วย
สำหรับประเพณี “สารทเดือนสิบ” เป็นงานประเพณี
หรืองานบุญที่มีรูปแบบกิจกรรมที่เป็นศูนย์รวมของพี่น้องน้องชาวใต้
และถือกันว่าเป็นศูนย์กลางของการร่วมทำบุญ
เพื่ออุทิศส่วนกุศลให้แก่บรรพบุรุษที่ล่วงลับไปแล้ว
อันเป็นการแสดงความกตัญญูกตเวทีต่อผู้มีพระคุณ หรือบรรพบุรุษ
ซึ่งนอกจากจะเป็นการร่วมสืบสานและอนุรักษ์วัฒนธรรมประจำถิ่นให้คงไว้ในสังคมไทยให้คงอยู่แล้ว
ยังเปิดโอกาสให้พี่น้องชาวใต้ และครอบครัวที่อาศัยอยู่ใน จังหวัดชลบุรี
และใกล้เคียงได้ร่วมกันทำกิจกรรม
เพื่อเผยแพร่ประเพณีพื้นบ้านของชาวใต้ให้เป็นที่รู้จักของคนทั่วไป
โดยพิธีชิงเปรตนั้นจะเริ่มขึ้นหลังจากเสร็จจากการฉลองหมรับและถวายภัตตาหารแล้ว
ก็จะนำขนมบางส่วนไปวางไว้บนแท่นกลางลาน เรียกว่า ตั้งเปรต เพื่อแผ่ส่วนกุศล
ให้เป็นทานแก่ผู้ล่วงลับที่ไม่มีญาติหรือญาติไม่ได้มาร่วมทำบุญได้รับอาหารที่วางไว้
แล้วจะนำสายสิญจน์ที่ได้บังสุกุลแล้ว มาผูกเพื่อแผ่ส่วนกุศล หลังจากนั้น
ทั้งผู้ใหญ่และเด็กก็จะมาล้อมแท่นที่วางอาหารไว้ ก่อนจะเข้าไปแย่งชิงกันอย่างสนุกสนานคึกคัก
แล้วนำมาแบ่งกันกิน เพราะความเชื่อว่า
ของที่เหลือจากการเซ่นไหว้บรรพบุรุษ หากได้ไปกินก็จะได้กุศลแรงเป็นสิริมงคล หลังจากนั้นมีการแข่งขันปีนเสาน้ำมัน
แย่งชิงธงกัน เป็นที่สนุกสนานให้กับผู้ที่มาร่วมในพิธีเป็นอย่างมาก
ความคิดเห็น
/