บริษัท ราชพัฒนา เอ็นเนอร์ยี ทุ่มงบ 2.7 พันล้าน เปิดโรงไฟฟ้าใหม่ มุ่งเพิ่มเสถียรภาพ ยกระดับความมั่นคงด้านพลังงานให้กับประเทศ
วันนี้ 21 พฤษภาคม 2567 บริษัท ราชพัฒนา เอ็นเนอร์ยี หรือชื่อเดิม สหโคเจน (ชลบุรี) พร้อมก้าวสู่ปีที่ 28 มุ่งขับเคลื่อนองค์กรสู่ความยั่งยืน เดินหน้าขยายการลงทุนพลังงานครบวงจร ล่าสุดใช้งบลงทุน 2.7 พันล้าน เปิดตัวโรงไฟฟ้าใหม่ กำลังผลิตไฟฟ้า 79.5 เมกะวัตต์ ไอน้ำ 75 ตัน/ชั่วโมง เพิ่มศักยภาพการผลิตไฟฟ้า ยกระดับเสถียรภาพและความมั่นคงด้านพลังงานให้กับประเทศอย่างต่อเนื่อง
ล่าสุด บริษัทได้ดำเนินการก่อสร้างโรงไฟฟ้าใหม่ ภายใต้งบประมาณการลงทุนรวม 2,700 ล้านบาท เพื่อทดแทนโรงไฟฟ้าเดิมที่จะครบอายุสัญญา (SPP Replacement) ซึ่งได้ทำพิธีเปิดอย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 21 พฤษภาคม 2567 โดยมี นายบุณยสิทธิ์ โชควัฒนา ประธานเครือสหพัฒน์ เป็นประธานในพิธี และได้รับเกียรติ นายนิทัศน์ วรพนพิพัฒน์ กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ราช กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) นายณัฐวุฒิ ผลประเสริฐ รองผู้ว่าการระบบส่ง การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย พร้อมนายสุจริต ปัจฉิมนันท์ ประธานกรรมการบริษัท คณะกรรมการบริษัท ผู้บริหาร พนักงานบริษัท ลูกค้า คู่ค้า และแขกผู้มีเกียรติเข้าร่วมพิธีและเป็นสักขีพยานในงาน ณ บริษัท ราชพัฒนา เอ็นเนอร์ยี จำกัด (มหาชน) สวนอุตสาหกรรมเครือสหพัฒน์-ศรีราชา อำเภอศรีราชา จังหวัดชลบุรี
ทั้งนี้ การเปิดตัวโรงไฟฟ้าใหม่มีเป้าหมายเพื่อเพิ่มเสถียรภาพและความมั่นคงด้านพลังงานให้กับประเทศอย่างไม่มีสะดุด โดยมีกำลังการผลิตไฟฟ้าติดตั้ง 79.5 เมกะวัตต์ และไอน้ำ 75 ตันต่อชั่วโมง ซึ่งจะช่วยเพิ่มศักยภาพกำลังการผลิตไฟฟ้ารวมของบริษัททะยานสู่ 153 เมกะวัตต์และไอน้ำ 110 ตันต่อชั่วโมง โรงไฟฟ้าใหม่นี้ได้เริ่มจำหน่ายไฟฟ้าเข้าระบบเชิงพาณิชย์ (COD) แล้วตั้งแต่วันที่ 19 เมษายน 2567 ที่ผ่านมา
ก่อนหน้านี้ บริษัทได้เปลี่ยนชื่อในการดำเนินธุรกิจสู่ บริษัท ราชพัฒนา เอ็นเนอร์ยี จำกัด (มหาชน) เพื่อแสดงถึงความเป็นพันธมิตร ระหว่าง บริษัท ราช กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) และ เครือสหพัฒน์ พร้อมเดินหน้าขยายธุรกิจสู่พลังงานหมุนเวียน โดยการลงทุนในธุรกิจผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ ทั้งแบบติดตั้งบนหลังคา (Solar Rooftop) แบบติดตั้งบนพื้นดิน (Solar Farm) และแบบติดตั้งบนทุ่นลอยน้ำ (Solar Floating) ซึ่งในปี 2567 นี้ คาดการณ์ว่า บริษัท และบริษัทในเครือ จะมีกำลังการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ แบบติดตั้งบนหลังคา (Solar Rooftop) รวมประมาณ 21 เมกะวัตต์ ตามสัดส่วนการถือหุ้น
ความคิดเห็น
/