saostar

Banner โฆษณา

นักโภชนาการ รพ สมเด็จ แนะนำ กินเจอย่างไรให้ได้บุญและสุขภาพดี


นักโภชนาการโรงพยาบาลสมเด็จพระบรมราชเทวี ณ ศรีราชา แนะนำผู้รับประทานอาหารเจ ไม่ควรทานของทอดและแป้งมากเกินไป จะทำให้ได้บุญและสุขภาพดีไปด้วย

วันนี้ ( 3 ตุลาคม 2567) เป็นการเริ่มต้นกินเจวันแรก ของเทศกาลถือศีลกินเจศรีราชา หลังจากรับเจ้าเป็นที่เรียบร้อยแล้ว โดยเทศกาลกินเจศรีราชา จัดขึ้นระหว่างวันที่ 2 – 11 ตุลาคม 2567 โดยผู้สื่อข่าวได้รับการเปิดเผยจาก นางสาวกมลวัทน์  สุขสวัสดิ์  นักโภชนาการโรงพยาบาลสมเด็จพระบรมราชเทวี ณ ศรีราชา ถึงการกินเจอย่างไรจะได้ประโยชน์ ไม่มีโทษนั้น โดยแนะนำให้ประชาชนควรลดหรือกินอาหารจำพวกแป้ง ของหวาน ของทอด ให้น้อย หันไปบริโภคอาหารจำพวกผักและผลไม้ให้มาก อาหารควรเป็นจำพวกต้น นึ่ง ยำ แล้วจะทำให้การกินเจในปีนี้ได้บุญและได้สุขภาพที่ดีไปด้วย

โดย นางสาวกมลวัทน์  สุขสวัสดิ์  นักโภชนาการโรงพยาบาลสมเด็จพระบรมราชเทวี ณ ศรีราชา เปิดเผยว่า อาหารเจ และอาหารมังสวิรัติ แตกต่างกัน

อาหารเจ เป็นรูปแบบการทานอาหารที่ไม่ทานเนื้อสัตว์ทุกประเภท ไม่ดื่มนม และไม่ทานไข่ ไม่ทานผักกลิ่นฉุน

ส่วนอาหารมังสวิรัติ เป็นรูปแบบการทานอาหารที่มีความยืดหยุ่นมากกว่า สามารถทานไข่ หรือนมได้ บางกลุ่มอาจจะทานปลาได้ด้วย ดังนั้น ในแหล่งของกลุ่มโปรตีน กลุ่มที่ทานมังสวิรัติจะมีทางเลือกมากกว่า

ข้อดีของการทานเจ คือ การทานเจ เป็นรูปแบบการทานอาหารแบบ Plant based diet คือ ทานอาหารประเภท ผัก ผลไม้ ถั่ว ธัญพืชต่างๆ มีงานวิจัยมากมายรองรับว่า การทานอาหารแบบ Plant based diet จะช่วยลดความเสี่ยงของการเกิดโรคหลอดเลือดสมอง โรคหลอดเลือดหัวใจ กลุ่มโรคไม่ติดต่อเรื้อรังต่างๆ ได้

โดยปกติ อาหารเจที่จำหน่ายตามท้องตลาดทั่วไป มักเป็นรูปแบบของเมนูผัด-ทอด เป็นเมนูที่มีองค์ประกอบข้าว-แป้งปริมาณมาก และอาจมีโซเดียมค่อนข้างสูงอีกด้วย 

การทานอาหารเจให้สุขภาพดี ควรเลือกอาหารที่ผ่านการปรุงประกอบด้วยวิธี ต้ม ตุ๋น นึ่ง อบ ยำ แทนการผัดและการทอด 

เลือกทานข้าว-แป้งไม่ขัดสี แทนการทานข้าวขาว เช่น ข้าวกล้อง ข้าวไรซ์เบอร์รี่

เลือกทานผักให้หลากหลายสี ทานถั่ว ธัญพืชที่หลากหลายประเภท เพื่อให้ได้รับใยอาหาร และสารต้านอนุมูลอิสระที่หลากหลาย

เมนูอาหารจานเดียว เช่น ผัดหมี่ซั่ว ผัดหมี่เหลือง ไม่ควรปรุงเครื่องปรุงรสเพิ่ม

เมนูประเภทต้ม-แกง ไม่ควรซดน้ำซุป-น้ำแกงจนหมด เนื่องจากอาจได้รับปริมาณโซเดียมเกินความจำเป็นของร่างกาย

เมนูชุดเต้าหู้ทอด เผือกทอด ควรจิ้มน้ำจิ้มให้น้อยลง ไม่ราดน้ำจิ้มลงในเต้าหู้ทอดหรือของทอด หากท่านใดมีโรคประจำตัวเบาหวาน ควรระมัดระวังการทานแป้งซ้ำซ้อน หากทานเผือกทอด ข้าวโพดทอด มันทอด ควรแบ่งทานแต่น้อย หรือลดข้าว-แป้งในมื้อหลักลง

เมนูเครื่องดื่ม อย่างเช่น น้ำเต้าหู้ ควรเลือกแบบไม่เติมน้ำตาล หรือเลือกหวานน้อยแทนสูตรปกติ หลีกเลี่ยงการดื่มเครื่องดื่มรสหวาน น้ำชง น้ำอัดลม

ดื่มน้ำเปล่าให้เพียงพอ นอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ และออกกำลังกายเป็นประจำทุกวัน

โดยสรุปคือ หากท่านใดต้องการทานเจในระยะเวลาสั้นๆประมาณ 10 วัน อาจใช้วิธีการที่กล่าวมาข้างต้นได้ แต่หากท่านใดต้องการทานเจในระยะยาว หรือมีโรคประจำตัว เช่น โรคเบาหวาน โรคไตเรื้อรัง แนะนำว่าควรปรึกษาแพทย์ นักกำหนดอาหาร หรือนักโภชนาการ เพื่อแนะนำรูปแบบการทานอาหารให้เหมาะสมกับโรคของท่านได้











ข่าวอื่นๆ ที่น่าสนใจ