บริษัท ซีเอชอีซี (ไทย) จำกัด จัดประชุมชี้แจงการดำเนินงานและประชาสัมพันธ์การก่อสร้างอาคารท่าเทียบเรือ ถนน และระบบสาธารณูปโภคในโครงการพัฒนาท่าเรือแหลมฉบัง ระยะที่ 3 (ส่วนที่ 2)
วันนี้ (24 ธ.ค.) บริษัท ซีเอชอีซี (ไทย) จำกัด ผู้ได้รับสัมปทานงานก่อสร้างอาคารท่าเทียบเรือ ถนน และระบบสาธารณูปโภคในโครงการพัฒนาท่าเรือแหลมฉบัง ระยะที่ 3 (ส่วนที่ 2) ได้จัดประชุมเพื่อชี้แจงการดำเนินงานและประชาสัมพันธ์การก่อสร้างโครงการ รวมทั้งรับฟังความคิดเห็นจากชาวบ้านในชุมชนโดยรอบ หน่วยงานภาครัฐและเอกชนที่มีส่วนได้เสียกับโครงการดังกล่าว ณ ห้องประชุมศรีราชา แกรนด์ บอลรูม ชั้น 3 โรงแรม โอ๊ควู๊ด โฮเทล แอนด์ เรสซิเดนซ์ ศรีราชา จ.ชลบุรี โดยมี เรือโทยุทธนา โมกขาว ผู้อำนวยการท่าเรือแหลมฉบัง เป็นประธานกล่าวเปิดงานและนำผู้บริหารท่าเรือแหลมฉบังเข้าร่วม
เรือโทยุทธนา โมกขาว ผู้อำนวยการท่าเรือแหลมฉบัง เผยว่า โครงการพัฒนาท่าเรือแหลมฉบัง ระยะที่ 3 ถือเป็นโครงการสำคัญที่มุ่งส่งเสริมศักยภาพด้านโลจิสติกส์และการขนส่งของประเทศไทย ที่มีเป้าหมายการเพิ่มศักยภาพในการนำเข้าและส่งออกให้ได้ถึง 18 ล้าน TEU เพื่อให้สามารถแข่งขันได้ในระดับสากล และยังเป็นจุดยุทธศาสตร์สำคัญในการขนส่งและกระจายสินค้าที่สำคัญของภูมิภาคและเตรียมผลักดันให้เป็นท่าเรือชั้นนำของโลก อีกทั้งยังเป็นโครงการสำคัญในการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก ที่รัฐบาลต้องการเร่งพัฒนาให้เสร็จโดยเร็ว เพื่อให้มีการเชื่อมต่อและขนส่งสินค้าไปยังกลุ่มประเทศกัมพูชา ลาว พม่า เวียดนาม และประเทศจีนตอนใต้ (CLMV)
การก่อสร้างในส่วนที่ 2 เป็นงานก่อสร้างอาคาร ท่าเทียบเรือ ระบบถนน และระบบสาธารณูปโภค ซึ่งถือเป็นอีกก้าวสำคัญในการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานที่เอื้อต่อการเติบโตทางเศรษฐกิจและการเชื่อมโยงกับภูมิภาคและโลก
"วันนี้เรามีเป้าหมายเพื่อให้ข้อมูลเกี่ยวกับโครงการ ตลอดจนรับฟังความคิดเห็นและข้อเสนอแนะจากทุกภาคส่วน ซึ่งถือเป็นส่วนสำคัญในการผลักดันให้โครงการดำเนินไปได้อย่างราบรื่นและมีประสิทธิภาพ การมีส่วนร่วมของทุกท่านจะช่วยสร้างความมั่นใจว่าโครงการนี้จะตอบสนองความต้องการของชุมชนและประเทศชาติได้อย่างแท้จริง"
ขณะที่การก่อสร้างโครงการพัฒนาท่าเรือแหลมฉบัง ระยะที่ 3 ส่วนที่ 1 เป็นการขุดลอก ถมทะเล ที่ได้ดำเนินการไปแล้วเกือบ 50% นั้นถือว่าล่าช้ากว่าแผนงานเดิมที่วางไว้ประมาณ 3-4% เท่านั้น และในการก่อสร้างส่วนที่ 2 จะเป็นการดำเนินงานต่อจากพื้นที่ที่มีการถมทะเลไปแล้ว ดังนั้นผลกระทบที่จะเกิดกับพี่น้องประชาชนและชุมชนบริเวณดังกล่าวจะไม่เหมือนในทะเล ซึ่งเป็นส่วนที่ 1 แต่อาจจะมีผลกระทบบ้างด้านการจราจรและการขนส่งวัสดุอุปกรณ์ในการก่อสร้าง
อย่างไรก็ตาม การดำเนินการต่างๆ นั้นจะเป็นไปตาม EHIA คือกำหนดช่วงเวลาในการขนส่ง เพื่อไม่ให้ไปรบกวนเวลาของพี่น้องประชาชน "ภาพรวมการก่อสร้างท่าเรือแหลมฉบัง ระยะที่ 3 มี 4 ส่วน ประกอบด้วย 1.การขุดลอก และการถมทะเล 2.งานก่อสร้างอาคาร ท่าเทียบเรือ ระบบถนน และระบบสาธารณูปโภค ซึ่งผู้ประมูลได้ คือ บริษัทไชน่า ฮาร์เบอร์ เอ็นจิเนียร์ริ่ง (ไทย) จำกัด โดยการดำเนินงานทั้งในทะเลและบนบกของ 2 บริษัทที่ประมูลได้จะต้องดำเนินงานสอดคล้องและประสานงานกัน เพื่อไม่ให้เกิดปัญหาในการก่อสร้างโครงการพัฒนาท่าเรือแหลมฉบัง ระยะที่ 3 ที่ดำเนินการอยู่ในขณะนี้"
สำหรับโครงการพัฒนาท่าเรือแหลมฉบัง ระยะที่ 3 ถือเป็นโครงการสำคัญที่มุ่งส่งเสริมศักยภาพด้านโลจิสติกส์และการขนส่งของประเทศไทย เพื่อให้สามารถแข่งขันได้ในระดับสากล
ทั้งนี้ โครงการพัฒนาท่าเรือแหลมฉบัง ระยะที่ 3 เป็นโครงการขนาดใหญ่จึงอาจมีปัญหาและอุปสรรคบ้างเล็กน้อย และอาจจะไม่เสร็จตามระยะเวลาที่กำหนด แต่การท่าเรือได้พยายามกำหนดให้การดำเนินงานเป็นไปตามแผนงานที่คาดหวังไว้ในระยะเวลา 4 ปี แต่ขณะนี้ได้เลยระยะเวลามาแล้ว เนื่องจากปัญหาการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19
"การประชุมประชาสัมพันธ์งานก่อสร้างอาคาร ท่าเทียบเรือ ระบบถนน และระบบสาธารณูปโภคในวันนี้เป็นไปตามมาตรการ EHIA ที่ผู้รับจ้างจะต้องดำเนินการ โดยจะเป็นการอธิบายภาพรวมในการก่อสร้างให้ประชาชนโดยรอบได้รับรู้ และผู้รับจ้างจะต้องเปิดพื้นที่ในการก่อสร้างให้ชุมชนได้เข้าไปดูเพื่อให้ชาวบ้านได้มีส่วนร่วมในโครงการ เช่น แสดงความคิดเห็น ข้อตำหนิติชม และนำไปแก้ไข โดยเชื่อมั่นว่าทางผู้รับจ้างยินดีให้ความร่วมมือ เพื่อให้โครงการเป็นไปด้วยความโปร่งใส" เรือโทยุทธนา กล่าว
ความคิดเห็น
/